Categories
News

“ต่อมทอนซิล” อักเสบได้อย่างไร?

“ต่อมทอนซิล” อักเสบได้อย่างไร? ต่อมทอนซิล เป็นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในช่องคอทั้งซ้ายและขวา มีหน้าที่คอยจับและทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย และมีส่วนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายด้วย

“ต่อมทอนซิล” อักเสบได้อย่างไร?
ต่อมทอนซิลอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบมากในเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี เพราะเป็นวัยที่ภูมิต้านทานยังไม่แข็งแรง และมักชอบเอาของเล่น ของใกล้ตัว หรือแม้กระทั้งนิ้วและมือเข้าปาก ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย จนกลายเป็น “ต่อมทอนซิลอักเสบ” บ่อยๆ

อาการของลูกน้อยใช่ “ต่อมทอนซิลอักเสบ” หรือไม่?
คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการของลูกน้อยว่ามีอาการเหล่านี้ หรือมีสัญญาณเตือนของโรคต่อมทอนซิลอักเสบหรือไม่ เช่น

ต่อมทอนซิลจะบวมแดง
มีอาการเจ็บคอ โดยเฉพาะเวลากลืนน้ำลายหรือกลืนอาหาร ส่งผลให้มีอาการเบื่ออาหาร
ปวดศีรษะ
มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ต่ำๆ แต่บางรายอาจมีไข้สูงจนถึงขั้นชักได้
อ่อนเพลีย หมดแรง ร้องไห้โยเยทั้งวันทั้งคืน
อาเจียน ปวดท้อง และมีอาการท้องเดินร่วมด้วย
ดูแลรักษาอย่างไร เมื่อลูกน้อยเป็น “ต่อมทอนซิลอักเสบ”
เมื่อลูกน้อยป่วย คุณพ่อคุณแม่ยิ่งต้องดูแลใส่ใจเป็นพิเศษ และที่สำคัญต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เมื่อพาลูกไปพบแพทย์ คุณหมอก็จะเริ่มการรักษาตามความรุนแรงของอาการ

การรักษาโดยการให้ยา ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดต่อมทอนซิลอักเสบ
เกิดจากเชื้อไวรัส รักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ยาพ่น หรือยาอมแก้เจ็บคอ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย รักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะ กินยาต่อเนื่องกันประมาณ 7-10 วัน
เฝ้าดูอาการลูกอย่างใกล้ชิด
คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นเฝ้าดูอาการของลูก หากลูกมีไข้สูง ครั่นเนื้อครั่นตัว ควรหมั่นเช็ดตัวให้ลูกเพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย ป้องกันการเกิดอาการชัก
ใส่ใจในการรับประทานของลูก
ควรให้ลูกค่อยๆ รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้ม และควรให้จิบน้ำบ่อยๆโดยเฉพาะน้ำหวาน
ให้ลูกนอนหลับอย่างเต็มอิ่ม
ช่วงที่ลูกป่วย เป็นช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ เพราะร่างกายต้องการเวลาในการฟื้นฟูให้กลับความแข็งแรง
ดูแลความสะอาดภายในบ้าน
เมื่อลูกเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ คุณพ่อคุณแม่ยิ่งควรดูแลความสะอาดภายในบ้าน รวมทั้งของใช้ ของเล่นต่างๆ เพื่อเป็นการป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกายลูกเพิ่มอีก
คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าดูลูกน้อยอย่างใกล้ชิด หากมีสัญญาณหรืออาการเตือน ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง แม้ว่า “โรคต่อมทอนซิลอักเสบ” จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่หากปล่อยไว้นาน ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้